เมื่อบริษัทตัดสินใจจะ IPO สิ่งที่ต้องรู้และวิธีการเตรียมตัวมีอะไรบ้าง
หากตัดสินใตแล้วว่าจะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สิ่งที่ต้องเตรียมตัว สามารถสรุปได้ดังนี้
1. การแปลงงบการเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด
โดยปกติงบการเงินที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มักจะเป็นงบการเงินภายใต้สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ หรือขอเรียกง่ายๆว่า งบการเงินชุดเล็ก แต่การที่จะเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นั้น จะต้องทำการปรับปรุงงบการเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด หรือให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน หรือขอเรียกง่ายๆว่า งบการเงินชุดใหญ่ ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างงบการเงินชุดเล็ก และชุดใหญ่ จะแตกต่างกันในหลายๆประเด็น ยกตัวอย่างเช่น การบันทึกรายการภาษีเงินได้ ผลประโยชน์พนักงาน หรือสำรองต่างๆ เป็นต้น
2. จัดให้มีระบบการควบคุมภายใน
การที่วางระบบภายในที่ดี ถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อองค์กร เพราะจะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น แม้ว่าบริษัทนั้นจะอยู่ในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เมื่อใดก็ตามที่บริษัทต้องการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบบการควบคุมภายในของบริษัทยิิ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ เพราะหากมีการวางระบบไม่ดี อาจส่งผลเสียต่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นวงกว้างได้
3. จัดหาตัวช่วยที่เหมาะสม
เพื่อให้การดำเนินการการเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องไม่ปวดหัวมากนัก การได้ผู้ช่วยที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้วางระบบการควบคุมภายใน ผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับการรับรองจากตลาดหลักทรัพย์ และสรรหาคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท
4. จัดโครงสร้างการถือหุ้นและธุรกิจให้ชัดเจน
การจัดโครงสร้างการถือหุ้น และธุรกิจให้ชัดเจน ทำเพื่อประโยชน์ต่อผู้ลงทุน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะมีความโปร่งใส ไม่เอื้อต่อบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ซึ่งการจัดโครงสร้างการถือหุ้น มักจะต้องได้รับคำปรึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงิน
5. เตรียมความพร้อม กรรมการ ผู้บริหาร และ CFO
เนื่องจากการที่จะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือ CFO ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความเพียบพร้อมตามหลักเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้ เช่น CFO ต้องผ่านการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องด้านบัญชี 6 ชั่วโมงต่อปี และมีประสบการณ์ด้านการบัญชี หรือการเงิน 3 ปี ใน 5 ปีล่าสุด หรือด้านใดๆที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการดำเนินกิจการ 5 ปี ใน 7 ปีล่าสุด เป็นต้น
6. สรรหาผู้ประสานงาน
สรรหาผู้ประสานงาน ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการของบริษัท, นักลงทุนสัมพันธ์ หรือผู้ติดต่อหลัก
หากดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้น และมีการวางแผนที่ดีแล้ว การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปค่ะ