การแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด
เปรียบเทียบการแปรสภาพ vs การเลิกกิจการแล้วเปิดเป็นบริษัทใหม่
- บางคู่ค้าหรือสถาบันการเงินมีข้อกำหนดว่ากิจการที่จะทำธุรกรรมด้วยต้องดำเนินงานมาแล้วอย่างน้อยกี่ปี ดังนั้น การเลิกแล้วเปิดใหม่จะทำให้เสียประวัติการดำเนินงานของห้างเดิมไป
- ค่าใช้จ่ายในการเลิกแล้วเปิดใหม่อาจสูงกว่าการแปรสภาพ เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลิกและชำระบัญชีของห้างรอบหนึ่ง และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปิดบริษัทอีกต่อหนึ่ง
- การเลิกกิจการแล้วเปิดเป็นบริษัทใหม่ นายทะเบียนอาจไม่อนุญาตให้บริษัทที่เปิดใหม่ใช้ชื่อซ้ำกันกับชื่อห้างเดิม เพื่อป้องกันความสับสนว่าเป็นนิติบุคคลเดียวกัน
ข้อดี vs ข้อเสีย ของการแปรสภาพ
ข้อดี
- เอื้อต่อการขยายกิจการในอนาคต
- สามารถระดมทุนได้มากขึ้นผ่านการขายหุ้น
- เพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำการค้ากับคู่ค้า
- มีเครดิตดีกว่าเมื่อจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน
- สามารถแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดได้ในอนาคต
ข้อเสีย
- ขั้นตอนยุ่งยาก
- มีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
- ค่าใช้จ่ายต่างๆ อาจเพิ่มขึ้น เช่น ค่าสอบบัญชี (กรณีเดิมใช้ TA พอเปลี่ยนเป็นบริษัทต้องใช้ CPA)
- ต้องแจ้งผู้เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขสัญญาการค้าใหม่
- ถ้าห้างมีหุ้นส่วนไม่ถึง 3 คน ต้องทำเรื่องจดทะเบียนเพิ่มหุ้นส่วนก่อน
แปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด มีขั้นตอนดังนี้
- ห้างหุ้นส่วนที่มีหุ้นส่วน 3 คนขึ้นไปตกลงและทำหนังสือยินยอม
- แจ้งความยินยอมเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายใน 14 วัน
- ลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 1 คราว
- ทำหนังสือบอกกล่าวไปยังเจ้าหนี้ และแจ้งให้เจ้าหนี้ที่มีข้อคัดค้านส่งคำคัดค้านภายใน 30 วัน
- เรียกประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อให้ความยินยอมและดำเนินการต่อ เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน
- จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อบังคับของบริษัท กำหนดเรื่องหุ้น แต่งตั้งกรรมการบริษัทและผู้สอบบัญชี
- ส่งมอบกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน เอกสาร บัญชี และหลักฐานต่างๆ ให้กรรมการบริษัทภายใน 14 วัน
- ผู้ถือหุ้นชำระเงินค่าหุ้น
- จัดเตรียมคำขอและเอกสารประกอบการแปรสภาพ
- กรรมการบริษัทยื่นคำขอจดทะเบียนแปรสภาพต่อนายทะเบียน ภายใน 14 วัน
- ชำระค่าธรรมเนียมการแปรสภาพ
- ได้รับหนังสือสำคัญการจดทะเบียนและหนังสือรับรองบริษัท