หลายคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจมักจะสงสัยว่า ถ้าเกิดเปิดบริษัท หรือจดทะเบียนทำธุรกิจส่วนตัว  ภาษีที่เกี่ยวข้องจะมีภาษีอะไรบ้าง

1. ภาษีิเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากนิติบุคคลที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายภาษีอากรที่ชื่อว่า “ประมวลรัษฎากร”  หากเราทำธุรกิจในรูปแบบบริษัทฯหรือห้างหุ้นส่วน กิจการของเราจะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้   โดยในปัจจุบันผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฏากร ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และรวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   สำหรับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะมี 2 แบบ ก็คือ แบบแสดงรายปี หรือแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 สำหรับภาษีสำหรับรอบลงบัญชีที่ต้องยื่นภายใน 150 วันหลังจากวันที่ปิดบัญชี และ แบบแสดงรายการครึ่งปี หรือแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51 ที่ต้องยื่นภายใน 2 เดือนหลังจากรอบบัญชีครึ่งปี

2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ “ภาษีที่ถูกหักไว้ล่วงหน้า” โดยกฎหมายกำหนดให้คนที่จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษีไว้เมื่อมีการจ่าย ซึ่งจะหักเท่าไรนั้นเป็นไปตามประเภทของเงินได้และอัตราภาษีที่กำหนด   หรือพูดง่ายๆก็คือ ภาษีที่ถูก“หัก” ไว้ตั้งแต่ตอนผู้จ่าย “จ่าย” เงินได้ให้กับเรานั่นเอง โดยคนที่หักภาษีไว้นั้น ต้องนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 3 กรณีที่หักบุคคลธรรมดา และ ภ.ง.ด. 53 กรณีที่หักนิติบุคคล ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้น จากคนทำธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการประเภทต่างๆ โดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือ ผู้ประกอบการ และผู้นำเข้า ซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิต ผู้ให้บริการผู้ขายส่ง ผู้ขายปลีก ส่งออก ผู้นำเข้า ซึ่งมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม ซึ่งเมื่อมีรายได้เกินหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องทำการจดทะเบียนกับกรมสรรพากรเพื่อเป็นผู้ประกอบการภายใต้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม  และสำหรับคนที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่ มักจะต้องเสียภาษีชนิดนี้จากการซื้อขายหรือให้บริการ โดยต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรอีกประเภท ที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่าง เช่น กิจการธนาคารพาณิชย์ โรงรับจำนำ หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีที่มีชื่อว่า ภ.ธ. 40 และในกรณีทั่วไปของธุรกิจ เมื่อมีการขายอสังหาริมทรัพย์หรือการให้กู้ยืมเงินจะเสียภาษีที่อัตรา 3.3%

5. อากรแสตมป์

อากรแสตมป์ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรอีกประเภทหนึ่ง แต่จะเรียกเก็บเมื่อมีการทำตราสารระหว่างกันตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยจะใช้การขีดฆ่าแสดงถึงการใช้แสตมป์ดังกล่าว ซึ่งผู้ที่จะขีดฆ่าได้ต้องเป็นไปตามกำหนดของประมวลรัษฎากร โดยคำว่า “ตราสาร” ตามประมวลรัษฎากรหมายถึง เอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ หรือจะพูดง่ายๆก็คือ “สัญญา” เช่น ตราสาร (สัญญา) เช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน ฯลฯ

 

Tags: , , ,